ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับรูปแบบของหลังคาที่เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเราก่อน ซึ่งรูปแบบหลังคา ที่เหมาะกับอากาศของประเทศไทยก็คือ หลังคาทรงจั่ว เนื่องจากผ่านการพิสูจน์จากกาลเวลามาเรียบร้อยแล้ว ว่าเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมากที่สุด ด้วยลักษณะที่มีความลาดเอียงมากทำให้ระบายน้ำฝนได้เร็วและช่วยระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดี
ส่วนรูปแบบหลังคาอื่น ๆ เช่น หลังคาสแลป มีลักษณะแบนราบหรือเรียกอีกอย่างว่าหลังคา ดาดฟ้า ข้อดีคือเพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้ แต่ข้อเสียคือถ้าก่อสร้างไม่ดี อาจทำให้น้ำรั่วซึมลงไปยังชั้นล่าง และพื้นคอนกรีตยังเป็นตัวเก็บความร้อน ทำให้บ้านร้อนอีกด้วย หลังคาอีกแบบที่พบเห็นบ่อย ๆ คือหลังคาทรง Lean to Roof หรือเพิงหมาแหงน มีลักษณะเอียงลาดไป ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อช่วยในการระบายน้ำฝน ส่วนใหญ่บ้านสไตล์โมเดิร์นมักใช้รูปแบบหลังคาประเภทนี้ ข้อควรระวังคือ องศาความลาดเอียงของหลังคาต้องเพียงพอให้น้ำฝนระบายออกได้
กระเบื้องหลังคาสวยอย่างเดียวอาจไม่พอ
เพราะเพียงกระเบื้องมุงหลังคาอย่างเดียว ไม่อาจตอบโจทย์ความสบายแบบครบถ้วนของบ้านได้ หากละเลยโครงสร้างก็สามารถเกิดปัญหาการรั่วซึมและหลุดล่อนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน
1. กระเบื้องหลังคา
การเลือกวัสดุมุงหลังคาก็ช่วยบ่งบอกสไตล์ของบ้านและเจ้าของบ้านได้เช่นกัน ในปัจจุบันวัสดุที่นิยมใช้มุงหลังคามากที่สุดก็คือ กระเบื้องหลังคา เนื่องจากมีรูปลักษณ์และคุณสมบัติที่เหมาะสม มีรูปแบบให้เลือกหลากหลายเข้ากับบ้านได้ทุกสไตล์ อาทิ บ้านสไตล์โมเดิร์นทันสมัย ก็ควรเลือกใช้กระเบื้องมุงหลังคาแผ่นเรียบที่มีลักษณะเป็นเส้นตรงดูโมเดิร์นให้เข้ากับตัวบ้าน หากสไตล์บ้านออกแนวร่วมสมัย สามารถเลือกใช้หลังคาเป็นลอนโค้งเพิ่มความคลาสสิกให้กับบ้าน หรือถ้าหากบ้านสไตล์ธรรมชาติ ลองเลือกหลังคารูปลักษณ์และสีสันคล้ายกับปีกไม้ก็จะยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น
แต่ถ้าแยกย่อยลงไปอีกก็จะพบว่ากระเบื้องหลังคา แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายดังต่อไปนี้
กระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องซีเมนต์ พบเห็นกระเบื้องหลังคาประเภทนี้ได้เยอะที่สุด ในหลังคาของบ้านพักอาศัย เนื่องจากมีความแข็งแรงและสวยงาม แต่มีน้ำหนักมาก จึงต้องใช้โครงหลังคาเหล็กที่มีความแข็งแรงเพี่อรองรับน้ำหนักของตัววัสดุ
กระเบื้องดินเผา ส่วนใหญ่เห็นในหลังคาอาคารที่มีลักษณะความเป็นไทย เช่น เรือนไทย วัด โบสถ์ ผลิตจากดินเหนียวผสมน้ำ นวดให้เข้ากันจนได้ที่แล้วนำไปขึ้นรูปและเผาไฟจนได้แผ่นกระเบื้องที่มีความแข็งแรง นำไปมุงหลังคาได้ มีทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบน้ำยา
กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ บางคนอาจคุ้นกับคำว่า กระเบื้องลอนคู่มากกว่า แต่ก็คือกระเบื้องหลังคาชนิดเดียวกัน ปัจจุบันกระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์เกือบทุกยี่ห้อจะไม่มีใยหินเป็นส่วนประกอบและมีความแข็งแรงทนทานมากกว่ากระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ในอดีต รวมทั้งมีสีสันให้เลือกมากและราคาไม่แพง จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
หลังคาเซรามิก ยังคงเป็นหลังคาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับบ้าน เพราะตัวเซรามิก มีความมันวาว จึงโดดเด่นในด้านความสวยงามของรูปลอนและความสวยเนียนของสีที่เคลือบบนผิวของหลังคา โดยเฉพาะเมื่อแสงแดดจากพระอาทิตย์สาดส่อง ตัวหลังคาเซรามิกสามารถ สะท้อนสีสันบนผิวออกมาอย่างชัดเจน ทำให้บ้านดูสวยงาม ตัวเซรามิกเองก็มีความทนทานป้องกันความร้อนได้ดี
นอกจากนี้ยังมีวัสดุมุงหลังคาประเภทต่าง ๆ เช่น แผ่นโพลีคาร์บอเนต ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติก โปร่งแสง ใช้ทำหลังคาหรือกันสาดให้แสงสว่างส่องผ่านได้ หรือหลังคาที่เลียนแบบวัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าว ใบจาก ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์แต่มีสีสันและพื้นผิวสัมผัสคล้ายกับวัสดุธรรมชาติ
- โครงหลังคา
โครงหลังคาเปรียบเสมือนโครงกระดูกที่อยู่ภายในร่างกาย จึงต้องมีความแข็งแกร่ง ทนทานเพื่อพยุงหลังคาทั้งหลังได้อย่างมั่นคง แม้จะมองจากภายนอกไม่เห็นก็ตาม วัสดุที่นิยมใช้เป็นโครงหลังคามี 2 ประเภท คือไม้เนื้อแข็ง และเหล็ก แต่ในปัจจุบันโครงหลังคาไม้มีราคาสูงและมักประสบปัญหากับคุณภาพของไม้ ทั้งเรื่องไม้ที่ยังไม่แห้งสนิทหรือไม่ได้รับการทายากันปลวกตามกำหนด จึงทำให้โครงหลังคาไม้ค่อย ๆ ลดจำนวนลงไป ส่วนโครงหลังคาเหล็กก็มี 2 ประเภท คือ โครงหลังคาเหล็กรูปพรรณ เป็นโครงหลังคาที่ทำจากเหล็กรูปตัว C นำมาเชื่อมต่อกัน ทาสีกันสนิมแล้วยกเหล็กขึ้นไปเชื่อมด้วยเครื่องเชื่อมด้านบนเพื่อเป็นโครงหลังคา แล้วจึงมุงด้วยวัสดุมุงหลังคา ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบของโครงหลังคาเหล็กก็คือเรื่องสนิมและการเชื่อม หากการควบคุมงานไม่ดี หรือไม่มีโฟร์แมนคอยคุม ผู้รับเหมาอาจลักไก่ทาสีกันสนิมไม่ครบตามที่กำหนด หรือเกิดความเสียหายจากการเชื่อมซึ่งยากต่อการตรวจสอบ
สำหรับโครงหลังคาเหล็กอีกประเภทคือ โครงหลังคาสำเร็จรูป ซึ่งผลิตจากเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์กันสนิมเรียบร้อย มีน้ำหนักเบา คำนวณปริมาณเหล็กที่แน่นอนไม่เหลือเศษ พร้อมวัดขนาดและตัดมาจากโรงงาน นำมายึดกันด้วยแผ่นเหล็กและตะปูเกลียวเท่านั้น จึงสามารถติดตั้งโครงหลังคาได้รวดเร็วกว่า โครงหลังคาเหล็กรูปพรรณ
3. อุปกรณ์หลังคา
ช่วยเติมเต็มประโยชน์ของหลังคาให้ครบถ้วนและสวยงามขึ้น เช่น แผ่นปิดรอยต่อที่ใช้รองใต้กระเบื้อง ช่วยป้องกันน้ำรั่วซึมที่ใช้แทนระบบเปียกเพื่ออุดรอยต่อระหว่างกระเบื้องหลังคา ตะปูเกลียว และขอยึด ที่ต้องทำจากเหล็กชุบสังกะสีเพื่อช่วยป้องกันสนิม ตลอดจนไม้เชิงชายและแผ่นปิดกันนกแบบมีช่องระบายอากาศช่วยลดความร้อนและยังป้องกันสัตว์เล็ก ๆ เข้าไปอยู่อาศัยใต้หลังคาด้วย โดยอุปกรณ์หลังคาที่นิยมใช้กันมีอยู่ 7 ชนิด คือ1. แผ่นสะท้อนความร้อน ซึ่งเป็นอลูมิเนียมฟอยล์บริสุทธิ์ ช่วยสะท้อนรังสีความร้อนก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน โดยไม่ควรกักเก็บความร้อนไว้ในตัว และต้องมีความแข็งแรงทนทาน ไม่ฉีกขาด และไม่ติดไฟง่าย
2. แปเหล็ก ซึ่งออกแบบเพื่อใช้งานบนหลังคาโดยเฉพาะ มีความแข็งแรง ปลอดสนิม เพราะเป็นเหล็กเต็มขนาด ติดตั้งง่ายและยึดด้วยตะปูเกลียวชุบกัลวาไนซ์กันสนิม
3. รางน้ำตะเข้ เพื่อรองรับและระบายน้ำ โดยปราศจากปัญหาการรั่วและล้นราง อาจเป็นวัสดุสเตนเลสหรือกัลวาไนซ์ก็ได้
4. แผ่นปิดรอยต่อ เป็นแผ่นพลาสติกสังเคราะห์ตัดขึ้นรูปตามลอนกระเบื้อง ทนทานต่อแดดและฝน โดยไม่รั่วซึม และสามารถทาสีให้กลมกลืนกับกระเบื้องหลังคาได้
5. แผ่นปิดเชิงชาย ช่วยป้องกันสัตว์เล็กเข้าไปสร้างความเสียหายใต้หลังคา และมีช่องเล็ก ๆ ช่วยระบายอากาศ ลดความอับชื้น ทั้งนี้ควรจะทนต่อความร้อนโดยไม่แตกกรอบหรือบิดตัว
6. กระเบื้องโปร่งแสง เลือกใช้สำหรับห้องที่ต้องการเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติ และช่วยลดปัญหาความอับชื้นภายใน
7. ชุดครอบระบบแห้ง เพื่อป้องกันการรั่วซึม และระบายความชื้นใต้โครงหลังคาได้ดี