การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดคำถามว่าอนาคตของผู้สูงอายุจะเป็นอย่างไรเมื่อพูดถึงอนาคตของผู้สูงอายุไทย จำใจต้องตอบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความเสี่ยงที่จะต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับวัยเกษียณ ทำให้ไม่มีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งพบว่าปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุไทยคือ การไม่มีเงินออม โดยมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 34.6 เท่านั้นที่มีเงินออมโดยร้อยละ 34 ของผู้ที่มีเงินออมนี้มีเงินออมไม่ถึง 100,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก
สำหรับการที่จะอาศัยเงินออมเป็นแหล่งรายได้ในการดำรงชีวิตรวมทั้งใช้เป็นเงินทุนในยามฉุกเฉินโดยได้พบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 6 ที่สามารถอาศัยเงินบำเหน็จบำนาญเป็นรายได้หลัก และมีเพียงร้อยละ 2.6 ที่สามารถอาศัยดอกเบี้ยเป็นรายได้หลัก สองกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีการเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ ซึ่งน่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ก็เห็นได้ว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยมากคือไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุทั้งหมด
จากปัญหาการไม่มีเงินออมหรือไม่เงินออมน้อย ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 40.1 ต้องพึ่งพิงและอาศัยเงินจากลูกเป็นรายได้หลัก แต่ปัญหาคือรายได้จากลูกนี้เป็นแหล่งรายได้ที่ไม่ยั่งยืนในสังคมสูงวัยของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันคนวัยแรงงานของประเทศไทยมีสัดส่วนน้อยลงเรื่อย ๆ จากภาวะการเกิดที่ลดต่ำลง ตรงกันข้ามกับผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้คนวัยแรงงานมีภาระหนักขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ พูดง่าย ๆ ก็คือ คนสมัยก่อนมีลูกมาก เมื่อแก่ตัวลง ลูก ๆ หลายคนก็สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้อย่างไม่ลำบากอีกทั้งคนสมัยก่อนก็มีอายุไม่ยืนยาวมากนัก การเลี้ยงดูพ่อแม่จึงไม่เป็นภาระที่หนักหนาและยาวนานเท่าใดนัก แต่ในปัจจุบัน คนสมัยนี้มีลูกน้อยอีกทั้งผู้สูงอายุก็มีอายุยืนยาวมากขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมเป็นเรื่องยากที่ลูกจะสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้เป็นอย่างดีดังเช่นสมัยก่อน